ประวัติของสถานศึกษา
เมื่อปี พ.ศ. 2539 ประเทศไทยมีความขาดแคลนแรงงานในระดับต่างๆ หลายสาขาซึ่งสถานศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษาไม่สามารถผลิตคนให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากสถานศึกษาในสังกัดมีจำนวนจำกัด และไม่สามารถสนองความต้องการของผู้สนใจเข้าศึกษาด้านวิชาชีพได้ทั้งหมดจากข้อมูลการรับนักเรียนและผู้สนใจในปีที่ผ่าน ๆ มา มีผู้เรียนและผู้สนใจต้องการเรียนวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนสถานศึกษาที่มีอยู่ไม่สามารถรับนักเรียนได้ทั้งหมด ทำให้ผู้เรียนและผู้สนใจขาดโอกาสในการศึกษาวิชาชีพตามความต้องการ ซึ่งเป็นปัญหามีผลโดยตรงต่อการขาดแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต
กรมอาชีวศึกษา ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพระดับอำเภอขึ้นในแผนพัฒนาอาชีวศึกษาระยะที่ 7 จำนวน 70 แห่ง เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพและผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสนองตอบความต้องการของตลาดแรงงานและประเทศชาติ โดยให้มีการจัดการเรียนการสอนทั้งในระบบ (หลักสูตร ปวช, และ ปวส.) และนอกระบบ (การเรียนการสอนระยะสั้นและแกนมัธยม) ทุกประเภทวิชา (ช่างอุตสาหกรรม, พาณิชยกรรม, ศิลปกรรม, คหกรรม และเกษตรกรรม) ตามความต้องการของตลาดแรงงานและชุมชน เพื่อให้การขยายโอกาสทางการศึกษาครอบคลุมและกระจายทุกจังหวัดจึงดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพกันตังขึ้นใน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
อำเภอกันตัง เป็นอำเภอหนึ่งที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นอำเภอเป้าหมายในโครงการจัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพระดับอำเภอของกรมอาชีวศึกษาซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้นำชุมชน ประชาชนและหัวหน้าส่วนราชการอำเภอกันตังในการประสานงานเลือกสถานที่ตั้ง สรุปให้ใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ “ทุ่งเทียวเห็ด” จำนวน 100 ไร่ ของตำบลกันตังใต้ เป็นที่ตั้งวิทยาลัยการอาชีพกันตัง ซึ่งมีระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอกันตัง 8 กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดตรัง 35 กิโลเมตร
ในปี 2540 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพกันตัง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2540 ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุขวิทย์ รังสิพล ปีงบประมาณ 2540 ได้รับงบประมาณก่อสร้างสำนักงาน อาคารเรียน อาคารโรงฝึกงานและบ้านพัก เป็นเงิน 8,950,000 บาท (แปดล้านเก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ปีงบประมาณ 2541 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น 1 หลัง และอาคารโรงฝึกงาน 3 ชั้น 1 หลัง เป็นเงิน 28,440,000 บาท (ยี่สิบแปดล้านสี่แสนสี่หมื่นบาทถ้วน) ได้ดำเนินการเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2541 (ภาคเรียนที่1 ปีการศึกษา 2541) จำนวน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาเครื่องกลและสาขาวิชาพณิชยการ และในปีการศึกษา 2545 ได้ทำการเปิดการเรียนการสอน ดังนี้
1. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 2 ประเภทวิชา คือ ช่างอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำนวน 5 สาขางาน คือ
– สาขาวิชาช่างไฟฟ้า สาขางานไฟฟ้ากำลัง
– สาขาวิชาช่างยนต์ สาขางานยานยนต์
– สาขาวิชาการบัญชี สาขางานการบัญชี
– สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
– สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก สาขางานธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ
2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 2 ประเภทวิชา คือ ช่างอุตสาหกรรมและพาณิชยการ
– สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
– สาขาวิชาการบัญชี สาขางานการบัญชี
– สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิคยานยนต์
– สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง สาขางานเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ
3. วิชาชีพระยะสั้นสำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ
4. วิชาชีพเสริมแกนมัธยม ให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่อำเภอกันตัง
ขนาดและที่ตั้ง
วิทยาลัยการอาชีพกันตัง ตั้งอยู่เลขที่ 122 หมู่ที่ 3 ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 92110
โทรศัพท์ 0-7520-7865 โทรสาร 0-7520-7861 มีเนื้อที่ 100 ไร่ E-mail : Kantang_icc@yahoo.com
Website : www.kantang.ac.th
เขตติดต่อ
ทิศเหนือ จรดพื้นที่โรงเรียนบ้านจุปะ
ทิศใต้ จรดถนนทางสาธารณะประโยชน์ (ถนนวังวน)
ทิศตะวันออก จรด เขตตำบลวังวน
ทิศตะวันตก จรด ถนน ร.พ.ช.สายบ้านกันตังใต้ – บ้านบางแรด
สภาพชุมชน เศรษฐกิจ สังคม
อำเภอกันตัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตรัง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 24 กิโลเมตร ทิศเหนือติดต่ออำเภอเมืองตรัง ทิศใต้ติดต่อทะเลอันดามัน ทิศตะวันออกติดต่ออำเภอย่านตาขาว และกิ่งอำเภอหาดสำราญ ทิศตะวันตกติดต่ออำเภอสิเกาและทะเลอันดามันลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีภูเขาเตี้ย ๆ มีแม่น้ำตรังไหลผ่านในกลางอำเภอสภาพดินฟ้าอากาศ อำเภอกันตังตั้งอยู่ในเขตมรสุมติดต่อทะเลอันดามันทางด้านมหาสมุทรอินเดีย จึงได้รับลมมรสุมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้พัดสลับกันตลอดทั้งปี ทำให้ฝนตกชุกตลอดปี แบ่งช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูร้อนเดือน มีนาคม – พฤษภาคม / ฤดูฝนเดือน มิถุนายน – กุมภาพันธ์
วิทยาลัยการอาชีพกันตัง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีประชากรในตำบลกันตังใต้ จำนวน 6 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้าน ทำสวนยางพารา ประมงน้ำจืด ทำนา เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักผลไม้และรับจ้าง ฯลฯ
โดยรอบวิทยาลัยการอาชีพกันตัง มีทั้งชุมชนไทยพุทธ และมุสลิม ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำสวนยางพารา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาในกระชัง ทำใบจากแห้ง และทำประมงพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ การทำใบจากแห้ง การทำประมงพื้นบ้านและการแปรรูปอาหารทะเละแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี สวนตำหนักจันทร์ และสถานีรถไฟกันตัง
หน่วยงานใกล้เคียงที่สำคัญ ได้แก่
Ø สถานีอนามัยบ้านแตะหรำ Ø โรงเรียนบ้านกันตังใต้
Ø องค์การบริหารส่วนตำบลกันตังใต้ Ø สำนักสงฆ์กันตังใต้
Ø โรงเรียนบ้านแตะหรำ Ø องค์การบริหารส่วนตำบลวังวน
Ø โรงเรียนบ้านเกาะเคี่ยม Ø โรงเรียนบ้านจุปะ